มีข้อมูลที่บันทึกไว้ว่า ล็อบสเตอร์เป็นสัตว์น้ำทะเลอายุยืนยาวนับร้อยปี แต่ยังมีความจริงอีกมากที่อยากบอกต่อ

ทำไมต้อง Live Maine / Canadian Lobster

สองชื่อนี้คือ ล็อบสเตอร์สายพันธุ์เดียวกัน ขึ้นอยู่กับแหล่งที่อยู่อาศัย ขอเรียกรวมๆ ว่า แคนาเดียนล็อบสเตอร์ ละกันนะครับ ล็อบสเตอร์สายพันธุ์นี้เป็นสัตว์น้ำทะเลเขตหนาว ตัวจะโตและก้ามใหญ่มาก บางตัวก้ามใหญ่กว่าตัวเสียอีก หลายคนที่ชอบทานก็เพราะเนื้อตรงก้ามนี่แหละ ถือว่าเป็นเนื้อส่วนที่อร่อยที่สุด

ความแตกต่างระหว่าง Canadian Lobster และ Phuket Lobster

สายพันธุ์ “แคนาเดียนล็อบสเตอร์”จะเจอได้ทางฝั่งประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา มีหนวดยาวสองเส้นและก้ามใหญ่ที่เอาไว้ป้องกันศัตรูในท้องทะเล ตัวมีสีน้ำตาลสนิมไปจนถึงสีน้ำตาลเขียว ถ้านำมาปรุงผ่านความร้อนตัวจะกลายเป็นสีส้มแดงอมน้ำตาลเข้ม ส่วน “ภูเก็ตล็อบสเตอร์” หรือคนไทยเรียกว่า กุ้งมังกรเจ็ดสี อยู่ในทะเลเขตร้อน และเขตอบอุ่นทั่วโลก สำหรับบ้านเราจะเจอทางฝั่งอันดามัน เป็นกุ้งที่มีขนาดใหญ่ มีลายจุด และสีสันสวยงาม มาร์กเอาไว้ในใจเลยว่า ภูเก็ตล็อบสเตอร์จะมีหนวดเล็กๆ หลายเส้นเพื่อใช้ในการป้องกันตัว ต่างกับ แคนาเดียนล็อบสเตอร์ที่มีหนวดยาวสองเส้นและก้ามใหญ่

“ล็อบสเตอร์” กับ “กุ้งมังกร” มันคือชนิดเดียวกันหรือเปล่า?

เคยมีเคสที่ลูกค้าสั่ง “ล็อบสเตอร์” เพราะเข้าใจว่ามันคือ กุ้งมังกร ความจริงแล้ว มันไม่ใช่เลยครับ!! เป็นคนละชนิดกัน ถ้าตามหลักชีววิทยาต้องเรียกว่าต่างวงศ์กันเลย แม้ว่าจะจัดอยู่ในกลุ่มของกุ้งเหมือนกัน แต่หน้าตาของสัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้ไม่เหมือนกันตรงที่ “กุ้งมังกร” จะไม่มีก้ามนะครับ เป็นสายพันธุ์กุ้งชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่ากุ้งที่ขายกันปกติตามท้องตลาด

แล้วล็อบสเตอร์สายพันธุ์ไหนที่คนนิยมมากที่สุด

ถ้าวัดความนิยมของคนทั่วโลกก็จะตอบว่า คนส่วนใหญ่จะนิยมล็อบสเตอร์จากฝั่งยุโรปและอเมริกามากกว่าครับ แคนาเดียนล็อบสเตอร์ในร้านอาหารส่วนมากจะมาจากธรรมชาติ คือไม่ได้มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง นั่นหมายความว่า ล็อบสเตอร์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่ขนส่งมาทางเครื่องบินแบบยังมีชีวิตอยู่ด้วยครับ ปัจจุบันรัฐเมนในสหรัฐอเมริกายังเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในการขนส่งล็อบสเตอร์ไปยังทั่วโลก เมื่อขนส่งมาถึง ร้านจะต้องนำไปใส่ตู้ปรับอุณหภูมิความเย็นและรักษาระดับความเค็มของน้ำตามมาตรฐานของน้ำทะเล ซึ่งสามารเก็บได้ 1-2 อาทิตย์เท่านั้น เพราะเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมแคนาเดียนล็อบสเตอร์ถึงมีราคาสูงกว่ากุ้งชนิดอื่นๆ ในท้องตลาดบ้านเรา

ล็อบสเตอร์ เอาส่วนไหนมาทำอาหารก็อร่อย

ร้านอาหารส่วนใหญ่จะนำ "แคนาเดียนล็อบสเตอร์" มาทำอาหาร เพราะมีเนื้อสัมผัสที่เด้งกรุบ พอเคี้ยวไปจะรู้สึกหนึบๆ ส่วนไซส์ที่นิยมนำมาทำอาหารจะมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 400 กรัม ไปจนถึง 1.3 กิโลกรัม หนึ่งตัวสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายส่วนตามความนิยมของสัญชาติอาหารแต่ละประเทศ อย่างร้านอาหารญี่ปุ่นมักจะนำส่วนเนื้อมาทำเทปันยากิ หรือทำซาซิมิทานแบบดิบคู่กับวาซาบิ และนำส่วนหัวล็อบสเตอร์มาต้มซุปใส และเพราะเนื้อล็อบสเตอร์นั้นหวานกลมกล่อมอยู่แล้ว ชาวตะวันตกจึงเน้นชูรสสัมผัสของวัตถุดิบ ไม่นิยมใส่เครื่องปรุงเยอะ หรือที่เห็นบ่อยๆ ตามโรงแรมหรือร้านอาหารหรู ก็จะนำส่วนเนื้อ เปลือก และมันจากหัวกุ้งมาทำเป็น ซุปล็อบสเตอร์

Note: สำหรับร้านไหนที่อยากเพิ่มมูลค่าให้กับเมนูอาหารของร้าน อาจครีเอทเมนูพิเศษในคอนเซ็ปต์ East Meet West อาหารฟิวชั่นที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยๆ เพื่อสร้างสีสันและกระตุ้นยอดขายให้กับร้าน เช่น คั่วกลิ้งล็อบสเตอร์, แสร้งว่ากุ้งล็อบสเตอร์ ยำล็อบสเตอร์คำหวาน หรือข้าวคลุกน้ำพริกล็อบสเตอร์นึ่ง ก็น่าสนใจและอาจทำให้ลูกค้าตกหลุมรักเมนูล็อบสเตอร์ได้ง่ายๆ