หากกล่าวถึงอาหารญี่ปุ่นหลายคนคงนึกถึงแซลมอนเป็นอันดับแรกๆ แต่หากถามว่าทำไมเราถึงต้องทานแซลมอนก็คงหนีไม่พ้นกับรสชาติปลาอันแสนนุ่มลิ้นที่ติดใจใครหลายคน แต่ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วแซลมอนเป็นแหล่งรวมวิตามินหลากหลายที่ร่างกายต้องการเป็นอย่างมาก งานวิจัยทางวิชาการมากมายดังเช่น แนวทางการรับประทานอาหารสำหรับชาวอเมริกัน ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงการเกษตรของสหรัฐอเมริกาก็ล้วนแล้วแต่แนะนำให้ประชากรบริโภคแซลมอน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุต่างๆ ที่เพียงพอ มาดูกันว่านอกจากสารอาหารหลักที่เราได้รับจากแซลมอนอย่างคาร์โบไฮเดรต ธาตุเหล็ก โปรตีน ไขมัน และวิตามินบีแล้ว เราได้รับสารอาหารอื่นๆ อะไรอีกบ้างและสารอาหารเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายของเราได้อย่างไร

 

- คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) สารโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดและมีความจำเป็นอย่างมากต่อร่างกาย ช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ และส่งผลให้การเผาผลาญไขมันเป็นไปอย่างปกติ

- ธาตุเหล็ก (Iron) สารที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งช่วยให้ร่างกายสามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้

- โปรตีน (Protein) สารที่ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอภายในร่างกาย และยังช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด และเซลล์อื่นๆ

- ไขมัน (Fat) สารที่ช่วยในการดูดซึมวิตามินต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย และยังช่วยให้หนังศีรษะและผิวหนังสุขภาพดี

- วิตามินบี 6 (Vitamin B6) มีความจำเป็นต่อการสร้างน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแอนติบอดีและเม็ดเลือดแดง รวมไปถึงช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและการดูดซึมสารอาหารในร่างกาย

- วิตามินบี 12 (Vitamin B12) สารที่ช่วยในการบำรุงประสาท เพิ่มสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงบรรเทาความเครียด

 

นอกจากสารอาหารหลักๆที่คุ้นเคยเหล่านี้แล้ว แซลมอนยังอดุมไปด้วยแร่ธาตุ ที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างที่เราคาดไม่ถึง นั่นคือ

1. เซเลเนียม (Selenium) สารต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างกลูตาไธโอนเพอรอกซิเดส ซึ่งมีส่วนช่วยให้ร่างกายคงความอ่อนเยาว์ และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ และโรคมะเร็งอีกด้วย

2. ฟอสฟอรัส (Phosphorus) แร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อกระบวนการทางเคมีของร่างกาย ซึ่งทำให้ระบบการทำงานของไต และโครงสร้างของกระดูกและฟันดำเนินไปอย่างปกติ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และบรรเทาอาการปวดตามข้อต่างๆ อีกด้วย

3. โพแทสเซียม (Potassium) แร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งทำหน้าที่ในการคงสมดุลของน้ำและเกลือแร่ รวมไปถึงช่วยให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ

4. โซเดียม (Sodium) แร่ธาตุที่ช่วยให้แคลเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ สามารถละลายในเลือดได้ และป้องกันการอ่อนเพลียจากความร้อนหรือแสงแดด อีกทั้งยังช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้ตามปกติ

5. ไนอะซินหรือวิตามินบี 3 (Niacin or Vitamin B3) แร่ธาตุที่ช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ลดคอเลสเตอรอล ไขมัน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมไปถึงบรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบประสาททำงานได้ดียิ่งขึ้น

6. ซิงค์หรือสังกะสี (Zinc) แร่ธาตุที่ช่วยควบคุมกระบวนการทำงานต่างๆ ของร่างกาย อาทิ ระบบเอนไซม์ โปรตีน คอลลาเจน และระบบการทำงานของเลือดให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ